ตัวอย่างลักษณะการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภท และปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์
- ประเทศไทยมีแสงแดดเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 ชั่วโมง/วัน ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์ เฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 ชั่วโมง/วัน โดยจะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และพื้นที่
- การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ จะเหมาะสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันมาก เช่น บ้าน อาคาร สำนักงาน หรือกิจการ/ธุรกิจ โดยควรติดระบบโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งที่เหมาะสมกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน
- หากมีการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน อาจจะทำให้ไม่คุ้มค่าในการลงทุนติดตั้ง หรืออาจจะทำให้มีไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินกว่าความต้องการในช่วงกลางวันซึ่งจะกระทบต่อระบบไฟฟ้าและการบริหารจัดการของภาครัฐได้
การผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์เซลล์มีการเติบโตและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากต้นทุนค่าติดตั้งที่ลดลง
ความคุ้มค่าเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม และนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มโรงงาน ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน
ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ทำให้รูปแบบการผลิตไฟฟ้ามีความหลากหลายมากขึ้น เช่น Prosumer ที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบจำหน่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวัน เปลี่ยนเป็นมีความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันลดลง
และความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางคืนเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นปรากฏการณ์ Duck Curve รวมถึงรูปแบบการผลิตไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบการกระจายศูนย์ (decentralized system) มากขึ้น
ซึ่งอาจส่งผลให้ภาครัฐมีความจำเป็นในการสำรองไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าตอนกลางคืนที่ระบบโซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตได้
และเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ภาครัฐกำลังดำเนินการปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของระบบโซลาร์เซลล์
ทั้งในด้านกฎระเบียบการเชื่อมต่อ การคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า และการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า เพื่อให้สามารถวางแผนและรองรับปริมาณโซลาร์ได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้
ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองควรจะมีการจดแจ้งหรือลงทะเบียนให้ภาครัฐ (สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ทราบ
เพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป